การดำเนินงานของศูนย์วิจัยฯ จะเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนา และดำเนินการให้พื้นที่สุขภาวะเกิดความยั่งยืน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งนี้ ได้กำหนดบทบาทหน้าที่สำคัญ ดังนี้
- เป็นกลไกสนับสนุนและบริหารจัดการพื้นที่ ร่วมกับภาคี ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ตัวอย่างที่ได้รับการคัดเลือกร่วมกันในชุมชน โดยจัดให้มีการบูรณาการการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง หรือกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมดำเนินกิจกรรมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีชุมชน นักศึกษาและคณาจารย์ทั้งภายในและภายนอกร่วมเป็นผู้ขับเคลื่อน
- ประสาน สนับสนุนการทำวิจัยเพื่อการพัฒนา และจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการระดมและขยายเครือข่ายภาคีอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมเป็นไปเพื่อสนับสนุนองค์ประกอบต่างๆ ในพื้นที่สุขภาวะที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาสุขภาพกาย ใจ และปัญญา ของประชาชนในพื้นที่และผู้เข้าร่วมกิจกรรม
- สนับสนุน ประสาน บริหารจัดการให้เกิดการสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างการการรับรู้ การยอมรับ และการเข้าร่วมดำเนินงานของชุมชน และสังคมโดยรวม
- สนับสนุนให้เกิดการต่อยอดของความรู้ ประสบการณ์ ผ่านกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อเสริมศักยภาพของภาคี เครือข่าย เพื่อนำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุนิยามพื้นที่สุขภาวะที่กำหนด ศูนย์วิจัยฯ จะดำเนินงานให้เกิดกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเป็นพื้นที่สุขภาวะ โดยในเบื้องต้นองค์ประกอบหลักที่สำคัญ ได้แก่ ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของท้องถิ่น การมีกิจกรรมทางกาย (การออกกำลังกาย) การปรับปรุงพัฒนาพื้นที่สร้างสรร ภายใต้การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ อย่างมีส่วนร่วม โดยองค์ประกอบเหล่านี้ จะได้ถูกจัดให้มีพร้อมกับการออกแบบพื้นที่โดยมีภาคีต่างร่วมทำกิจกรรม และบริหารจัดการ ดังภาพที่ 2